Thursday, July 19, 2007

ASIATOPIA

















โดย นพวรรณ สิริเวชกุล


เมื่อหลายปีก่อน มีเทศกาลศิลปะแสดงสดเกิดขึ้นที่กรุงเทพมหานครของเรา ในชื่อเทศกาลศิลปะแสดงสด นานาชาติ เอเชียโทเปีย นับเนื่องมาถึงวันนี้ แปดปีเต็ม
เอเชียโทเปีย เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นโดย ศูนย์บ้านตึก ที่มีจุมพล อภิสุขเป็นผู้อำนวยการโครงการมาแต่เริ่มแรก

.....เพราะเราฝัน...เราจึงค้นหาความจริง.... ประโยคอุดมคติของเทศกาล ประกาศถึงความตั้งใจของเอเชียโทเปีย ที่พยายามสื่อสารภาพรวมในความเป็นเอเชีย ด้วยการเชื้อเชิญศิลปินทั้งจากภูมิภาคเอเชียและแถบซีกโลกตะวันตก ให้มาร่วมทำงานในเทศกาลเดียวกัน ภายใต้เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในแต่ละปีของเอเชีย เพื่อเป็นการช่วยกันเพิ่มพูนความเข้าใจในตัวเองและตรวจสอบการแสดงออกถึง ตัวตนแห่งเอเชีย ภายใต้ความกดดันของกระแสโลก

ชุมชนนักปฏิบัติการศิลปะแสดงสด(Performance Art) ฝันหา ตัวตนแห่งเอเชีย ผ่านการเคลื่อนไหวและเชื่อมโยงด้วยมิตรภาพ กับการทำงานศิลปะร่วมกัน พวกเขาเคยกล่าวถึง โลกแห่งศิลปะแสดงสดที่สร้างให้พวกเขาทั้งผองคือคนในครอบครัวเดียวกัน

ดังการเริ่มต้นในปีแรก เอเชียกำลังตกอยู่ในห้วงหายนะทางเศรษฐกิจ หลายบ้านหลายเมืองในละแวกนี้ล่มสลายขายกิจการกันเป็นว่าเล่น ภายใต้เงื้อมเงาแห่ง ไอ เอ็ม เอฟ

ไล่เรื่อยมาอีกปี ก็เกิดสงครามกลางเมืองแห่งติมอร์ตะวันออกเพื่อเสรีภาพ อีกทั้งการกวาดล้างกดดันผู้ลี้ภัยชาวพม่าโดยรัฐไทยหลังการบุกยึดสถานทูตกลางกรุงเทพฯ ของนักศึกษาพม่าเพื่อเรียกหาประชาธิปไตย...

ปี 2000 เอเชียโทเปียยังคงเดินหน้าจัดงาน ท่ามกลางโลกกลมๆใบนี้ ที่รอการก้าวย่างสู่สหัสวรรษใหม่กระทั่งปีแห่งเหตุการณ์ช๊อกโลก ครั้งตึกเวิร์ดเทรดถล่ม ศูนย์กลางทุนนิยมโลกล่มสลายพร้อมการประกาศสงคราม....

เอเชียโทเปียยังคงเป็นเทศกาลศิลปะแสดงสดที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นเอเชียไปพร้อมกับการจัดเทศกาล คงปฎิเสธไม่ได้ที่ทุกครั้งของการจัดเทศกาล มักจะมีคำประกาศออกมาจากผู้อำนวยการเทศกาล ด้วยมุมมองที่เชื่อมร้อยงานศิลปะเข้ากับมุมมองทางสังคมของเอเชีย...

หลายปีที่ผ่านมาเรากำลังช่วยกันค้นหาตัวตนแห่งเอเชีย ท่ามกลางความหวาดระแวงแห่งสงครามและการก่อวินาศกรรม เอเชียโทเปียมุ่งมั่นจะประกาศว่าเราสามารถอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความละมุมละไมในความขัดแย้ง ดังคำประกาศในเสื้อยืดของเทศกาลเมื่อปีที่แล้วในถ้อยคำที่ว่า Mild conflict....

มาปีนี้เอเชียโทเปีย เฟ้นหาบทสรุปในการทำงานเพื่อทิศทางการทำงานข้างหน้า จึงจัดเสวนาทางวิชาการว่าด้วยเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานศิลปะ เช่น ในประเด็นศิลปะกับการเมือง ศิลปะกับเพศ และศิลปะกับความเชื่อและศาสนา....โดยเน้นความเป็นไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้...

อย่างที่ทราบกันดีอยู่ว่า ศิลปินศิลปะแสดงสด คือกลุ่มคนที่ปฏิเสธขนบของศิลปะทั้งปวง คือผู้ท้าทายความคิดแบบจารีตต่างๆ ด้วยการทำงานศิลปะแบบไม่ใช่ศิลปะ....
อย่างเช่นศิลปินหญิงจากญี่ปุ่น คาโอริ ฮาบะที่เคยเข้าร่วมเทศกาลเอเชียโทเปียเมื่อปี 2000 มาแล้ว ปีนี้เธอกลับมาร่วมแสดงอีกครั้งหนึ่ง

คาโอริ เป็นศิลปินจากนากาโน ประเทศญี่ปุ่น ได้รับเชิญเข้าร่วมเทศกาลต่าง ๆ มาแล้วหลากหลายประเทศ ส่วนใหญ่เธอทำงานที่เกี่ยวเนื่องกับความเป็นชาติ การพลัดพรากจากถิ่นกำเนิด แน่นอนเธอบอกเล่าความเป็นญี่ปุ่นในทุกพื้นที่ของการทำงานศิลปะ

เช่นเดียวกับมิมี ฟาดะมิ ศิลปินหญิงชาวอินโดนีเซีย เธอเคยมาร่วมงานเอเชียโทเปียมาแล้วครั้งหนึ่งด้วยชุดการแสดงคลั่งแฟชั่น มาปีนี้เธอใช้ชื่องานว่า Lunch ด้วยการสวมใส่ชุดสีแดง แล้วเคี้ยวกินเม็ดพริกอย่างบ้าคลั่งก่อนนำมามาละเลงทั่วทั้งตัว...

ผลงานของเธอส่วนมากจะนำเสนอเรื่องปัญหาทางสังคมความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้น จนกลายมาเป็นความขัดแย้งระหว่างเพศในอินโดนีเซียทุกวันนี้

ดังศิลปินชาวไอริช นามว่า อังเดร สติทท์ ที่เคยกล่าวไว้ว่า ศิลปะต้องเป็นดั่งฆ้อน ถ้าไม่รู้จัดต่อต้าน ก็ไม่มีวันได้โอกาส... ดูจะเป็นประโยคที่ใครหลายคนประทับใจ... เพราะหลายครั้งในชีวิต โอกาสจะเข้ามาหาเราได้ ก็ต่อเมื่อเราต้องแสดงพลังอะไรสักอย่างให้ใครสักคนมองเห็น ตัวตน ของเราจริงๆ เพื่อไปให้ถึงฝัน ที่เราต้องการค้นหาความจริง นั่นเอง.

ขอบคุณภาพถ่ายจาก
โครงการเอเชียโทเปีย
คุณเอกลักษณ์ นับถือสุข


พบกับรายการ ต่างสมัย รอยไทย โดย นพวรรณ สิริเวชกุล
ได้ทุกวัน เสาร์ - อาทิตย์ เวลา 20.00 - 21.00 น.
ทางคลื่นสามัญประจำบ้าน
www.managerradio.com

Fundraising for 9th Asiatopia

test test